วันพฤหัสบดีที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

แนวทางการเลือกซื้อสินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

1. สเปรย์

สเปรย์เป็นสินค้าที่นิยมใช้อย่างแพร่หลาย เช่น สเปรย์ฉีดผม สเปรย์ยาฆ่าแมลง สเปรย์ระงับกลิ่นตัว สเปรย์น้ำหอมปรับอากาศ เป็นต้น สเปรย์เป็นผลิตภัณฑ์ที่อยู่ในสภาวะของเหลว มีก๊าซเหลว หรืออากาศเป็นตัวขับดัน สเปรย์บางชนิดบรรจุอยู่ในภาชนะที่มีกลไกในการปั๊มให้มีกำลังในการฉีดพ่นออกมาเป็นฝอยละอองเล็กๆ
 สารขับดันที่นิยมใช้แพร่หลายที่สุด คือ สารประเภทคลอโรฟลูออโรคาร์บอน (Chlorofluorocarbons : CFCs) ซึ่งเป็นสารเคมีที่สามารถก่อให้เกิดปัญหาทางสิ่งแวดล้อมอย่างร้ายแรง สามารถทำลายโอโซนที่ทำหน้าที่กรองรังสีอัลตราไวโอเลต (UV) ทำให้โอโซนบางลงจนเกิดเป็นช่องว่าง ส่งผลให้รังสียูวีจากดวงอาทิตย์สามารถกระจายลงสู่ผิวโลกได้มากยิ่งขึ้น เป็นสาเหตุให้เกิดโรคมะเร็งที่ผิวหนัง เกิดการสูญเสียการรับภาพของดวงตาและโรคอื่นๆ นอกจากนี้รังสียูวียังทำลายฮอร์โมน คลอโรฟิลล์ และสารเคมีที่มีความสำคัญต่อการสังเคราะห์แสงของพืช และเป็นอันตรายต่อสาหร่ายเซลเดียวที่อาศัยอยู่ในแหล่งน้ำ มีผลต่อห่วงโซ่อาหารของสิ่งมีชีวิตในน้ำ

การใช้สเปรย์อย่างไม่ทำร้ายโลก
      •     หากจำเป็นต้องใช้สเปรย์ เลือกใช้สเปรย์ที่ได้รับฉลากเขียว เพราะไม่ใช้สาร CFCs ทุกชนิด รวมถึงสารที่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม
      •     เลือกใช้ผลิตภัณฑ์สเปรย์ที่ไม่ทำให้เกิดความระคายเคืองและไม่มีสารพิษร้ายแรงที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ
      •     ต้องมีคำแนะนำในการใช้สเปรย์ที่ถูกต้อง
      •     ใช้บรรจุภัณฑ์ที่สามารถนำกลับมาเวียนใช้ใหม่ได้

2. ถ่านไฟฉายสูตรไม่ผสมสารปรอท

ถ่านไฟฉายเป็นขยะอันตรายใกล้ตัวที่หลายคนอาจมองข้ามและทิ้งปะปนกับขยะทั่วไป ส่วนใหญ่มักจะถูกทิ้งมาจากบ้านเรือนมากกว่าโรงงานอุตสาหกรรม ภายในถ่านไฟฉายประกอบด้วยโลหะหนักต่างๆ เช่น แมงกานีส สังกะสี ปรอท แคดเมียม ตะกั่ว เป็นต้น
        เมื่อถ่านไฟฉายถูกเผาจะปล่อยไอสารปรอท ซึ่งมีพิษอย่างรุนแรงออกสู่บรรยากาศ สามารถเข้าสู่ร่างกายได้ทั้งทางจมูก ปาก และผิวหนัง ส่งผลให้เกิดอาการผิดปกติต่างๆ นอกจากนี้ปรอทยังสามารถเปลี่ยนไปอยุ่ในรูปของเมทิลซึ่งมีพิษรุนแรงยิ่งขึ้นได้โดยแบคทีเรียที่อยู่ในดิน ซึ่งปรอทในรูปนี้มีความเป็นพิษสูงกว่าในรูปของโลหะหลายเท่าและอาจถ่ายทอดไปตามห่วงโซ่อาหารได้

หัวใจสำคัญของถ่านไฟฉายสูตรไม่ผสมสารปรอทฉลากเขียว

        ต้องไม่มีสารปรอทผสมอยู่ในกระบวนการผลิต และมีการเรียกคืนซากถ่านไฟฉายเพื่อนำกลับมากำจัดอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ นอกจากนี้ผลิตภัณฑ์ยังต้องได้รับการรับรองตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมแบตเตอรี่แห้ง รวมถึงในกระบวนการผลิต การขนส่ง และการกำจัดทิ้งหลังใช้ ผลิตภัณฑ์ต้องเป็นไปตามกฎหมายและข้อบังคับของทางราชการด้วย

ฉลาดรู้ ฉลาดใช้

     •    ควรเลือกใช้ถ่านไฟฉายที่ไม่มีส่วนผสมของสารปรอท
     •    ไม่ควรทิ้งซากถ่านไฟฉายที่ใช้แล้วปะปนกับขยะทั่วไป ควรแยกทิ้งในกล่องหรือภาชนะต่างหาก และเขียนป้ายบอกให้ชัดเจน เพื่อเจ้าหน้าที่เก็บขนขยะจะได้นำไปกำจัดอย่างถูกวิธี

3. หลอดฟลูออเรสเซนต์

        แสงสว่างช่วยให้เกิดความสะดวกสบายในการดำเนินชีวิต แต่จากการศึกษา วัฏจักรชีวิตของหลอดฟลูออเรสเซนต์ พบว่าในขณะใช้งานจะมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุดคือ ร้อยละ 90 โดยอยู่ในรูปของการใช้พลังงานไฟฟ้า ผลกระทบที่เหลือเกิดในขณะที่ยังเป็นวัตถุดิบในกระบวนการผลิต เช่น การระเหยของไอปรอท และหลังจากทิ้งหลอกดที่ใช้งานแล้ว กลายเป็นขยะอันตรายปนเปื้อนกับขยะมูลฝอยจากบ้านเรือน


       ภายในหลอดฟลูออเรสเซนต์มีปรอทบรรจุอยู่ หากปนเปื้อนออกมาก่อให้เกิดอันตรายต่อส่วนต่างๆ ของร่างกาย แตกต่างไปตามชนิดของพิษปรอท เช่น ปรอทในรูปโลหะหนัก มีผลกระทบต่อระบบประสาท ปรอทในสถานะที่เป็นของเหลวมีความเป็นพิษไม่มากนัก แต่เมื่ออยู่ในสถานะที่เป็นไอ จะมีพิษอย่างรุนแรง ไอปรอทสามารถเข้าสู่ร่างกายได้ทั้งทางจมูก ปาก และผิวหนัง มีผลทำร้ายเซลล์ภายในร่างกาย และอาจเกิดความผิดปกติกับส่วนต่างๆของร่างกาย

ที่มา : http://www.lpn.co.th/th/press/viewitem.aspx?nid=16

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น